Home / 01 / 02 / 03 /04 /05 /06 / 07 / 08 / 09

ห้าแยก สิบแปดแฉก ( สรุปผลงานภาพถ่ายของนิสิต รายวิชา Digital Arts I & II )



การถ่ายภาพ (photography) เป็นส่วนหนึ่งของวิชาที่เรียนในสาขาศิลปะดิจิทัล ทักษะการถ่ายภาพเรียนรู้จากการปฏิบัติ คล้ายกับการทำอาหาร ที่คงไม่สามารถฝึกทำอาหารโดยการอ่านหรือท่องตำราอาหารเพียงอย่างเดียว แต่ต้องลงมือปรุงและให้คนอื่นชิมรสชาติ ทักษะการภาพถ่ายฝึกฝนจากการไปยังสถานที่ต่างๆ ถ่ายสิ่งต่างๆด้วยมุมมองเฉพาะตัวของแต่ละคน เริ่มจากการถ่ายสิ่งที่นิสิตสนใจ และถ่ายภาพตามหัวข้อที่อาจารย์ผู้สอนกำหนดให้ เช่น ทิวทัศน์ เด็ก วัยรุ่น คนชรา มุมมองของสัตว์ และถ่ายทอดวิถีชีวิตของคนอื่น หลังจากนั้นจึงนำภาพถ่ายผลงานของตนมานำเสนอในห้องเรียน เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นจากเพื่อน และรับฟังคำแนะนำจากอาจารย์ นิสิตแต่ละคนมีทักษะและความถนัดที่แตกต่างกัน บางคนมีความถนัดในการถ่ายภาพคน บางคนถนัดในการถ่ายภาพวัตถุ สิ่งของ ตึกรามบ้านช่องและทิวทัศน์



ผลงานของ ยิ่งยง วงค์ตาขี่

แฉกแรก กอล์ฟ ยิ่งยง วงค์ตาขี่ สามารถกำหนดส่วนต่างๆให้ปรากฏในกรอบสี่เหลี่ยมของภาพได้ดี มีการตัดสินใจอย่างรวดเร็วในการกดชัตเตอร์ถ่ายภาพ ถ่ายภาพบุคคลได้ดี มีการสังเกตแสงที่แตกต่างกันในแต่ละช่วงระยะเวลาของวัน และเลือกใช้แสงในช่วงเช้าและเย็นในการบันทึกภาพทิวทัศน์ แต่ยังขาดความอยากรู้อยากเห็นที่จะใช้กล้องสอดส่ายซอกแซกเพื่อเก็บรายละเอียดต่างๆ ในหัวข้อวิถีชีวิต

ผลงานของ กรรณิกา ชมวงษา

แฉกที่สอง สาม และสี่ จั๊บจั๊บ อุไรทิพย์ ผมหอม แพนเค๊ก กรรณิกา ชมวงษา และ หินแห่ อุษณีย์ จงบวกกลาง นิสิตทั้งสามคนมีพัฒนาการการถ่ายภาพที่ดีขึ้น จากเริ่มแรกที่ไม่ได้คัดสรรหรือคัดเลือกสิ่งที่จะให้ปรากฏในรูปถ่าย เพียงแต่มองวัตถุที่ตนเองสนใจ แต่ไม่ได้ดูสิ่งที่รายล้อมวัตถุนั้น เช่น วัตถุที่ถ่ายอยู่ในฉากหลังที่รก ทำให้วัตถุกลืนหายไปกับฉากหลัง ภาพถ่ายที่ไม่คมชัด เกิดจากการรีบกดชัตเตอร์ถ่ายภาพโดยไม่ได้รอให้กล้องปรับโฟกัสภาพให้คมชัดเสียก่อน

จั๊บจั๊บ ภาพถ่ายดีขึ้นเป็นลำดับ เริ่มตั้งแต่ภาพทิวทัศน์ที่จัดองค์ประกอบภาพได้ดี ความคิดสร้างสรรค์เริ่มปรากฏให้เห็นเด่นชัดในหัวข้อมุมมองของสัตว์ จากการถ่ายภาพผ่านขวดโหลเมื่อต้องแปลงร่างเป็นปลาทอง มีการวางแผนก่อนล่วงหน้า ว่าจะถ่ายทอดวิถีชีวิตคนอื่นอย่างไร จะขาดก็แต่ความมั่นใจในฝีมือการถ่ายภาพตัวเอง ซึ่งคงจะมีความมั่นใจมากขึ้นเมื่อมีประสบการณ์มากขึ้น และได้รับคำชมมากขึ้น

ผลงานของอุษณีย์ จงบวกกลาง

แพนเค๊ก สามารถคัดสรรและเลือกมุมมองในการนำเสนอธรรมชาติได้ดี ทักษะการถ่ายภาพดีขึ้นหลังจากหัวข้อมุมมองของสัตว์ เริ่มใช้กล้องแทนสายตาในการแหงนมองขึ้น หรือแนบกับพื้น แต่บางภาพยังขาดจุดสนใจในภาพ ภาพเป็นเพียงบรรยากาศทั่วๆไป และควรคำนึงถึงสภาพแสงในการถ่ายภาพ เพื่อให้ภาพที่ได้ไม่มืดหรือเบลอจนเกินไป หินแห่ นำเสนอวัตถุสิ่งของหรือหุ่นนิ่งที่อยู่รอบๆตัว ในมุมมองที่แปลกใหม่ ทั้งการถ่ายภาพวัตถุนั้นในระยะใกล้ หรือในองศาที่แตกต่างไปจากการมองเห็นโดยทั่วไป การกำหนดสัดส่วนของพื้นที่ว่างและวัตถุที่เป็นแบบในภาพถ่ายมีความน่าสนใจดี ควรปรับปรุงในเรื่องการถ่ายภาพบุคคล ในเรื่องการถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกของคนที่เป็นแบบ และการจัดวางองค์ประกอบของภาพ

แฉกที่ห้า ตำแตง ณัฐกานต์ ปัดภัย ทักษะในการถ่ายภาพดี มีสายตาและมุมมองของช่างภาพ มีการเดินสำรวจไปรอบๆแบบที่จะถ่ายและบันทึกภาพแบบในมุมมองต่างๆ ผลงานภาพถ่ายบุคคล (portraiture) มีความโดดเด่นในเรื่องของมุมกล้องและการกำหนดระยะของภาพ เช่น นำเสนอแบบในระยะใกล้ ครึ่งตัวเพื่อให้เห็นสีหน้าและอารมณ์ที่ชัดเจน เพื่อให้ภาพทิวทัศน์และภาพวิถีชีวิตมีพัฒนาการที่ดีขึ้น ควรมีการศึกษาสถานที่และรูปแบบการใช้ชีวิตของคนที่เป็นแบบ
ผลงานของ เกริกชัย นุ้ยธารา

แฉกที่หก ระเบิด เกริกชัย นุ้ยธารา มีความโดดเด่นในการถ่ายภาพทิวทัศน์ การกำหนดเส้นขอบฟ้า การกำหนดสัดส่วนและสีสันของผืนดิน ท้องทุ่งและท้องฟ้าในกรอบภาพทำได้ดี มีสายตาที่ดี นำเสนอสิ่งหรือรายละเอียดเล็กๆน้อยๆของวัตถุในพื้นที่ที่กว้างใหญ่ ที่คนทั่วไปอาจมองข้ามไป ภาพถ่ายบุคคล สามารถถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกผ่านทางสีหน้าและแววตา ผลงานเริ่มมีลักษณะมุมมองเฉพาะตัวในงานบันทึกวิถีชีวิต ที่ใช้มุมกล้องซอกซอนชอนไชไปในโลกส่วนตัวและพื้นที่ส่วนตัวของคนที่เป็นแบบ

ผลงานของเจนจิรา อัสดร

แฉกที่เจ็ด อาร์เอ็น เจนจิรา อัสดร มีพัฒนาการในการถ่ายภาพที่ดีขึ้นมาก จากภาพถ่ายที่ทุกอย่างในภาพเอียงไปทางด้านซ้ายหรือขวา ขาดจุดสนใจในภาพ ส่วนในเทอมที่สอง ได้พัฒนาตนเองโดยเริ่มถ่ายภาพด้วยจินตนาการและมุมมองแปลกใหม่ จนผลงานมีความโดดเด่นและมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เห็นได้จากผลงานภาพถ่ายมุมมองของยุง และงานบันทึกวิถีชีวิตที่มีการใช้มุมกล้องที่สร้างสรรค์และแปลกใหม่ คัดเลือกสิ่งที่จะนำมาเป็นจุดสนใจในภาพได้ดี ภาพถ่ายบางชิ้นมีความคลุมเครือ ลึกลับ คล้ายกับผลงานรูปแบบนามธรรม (abstract art)

ผลงานของฐณพงษ์ ศรีวิชา

แฉกที่แปด กวาง ฐณพงษ์ ศรีวิชา ทักษะฝีมือในการถ่ายภาพฉกาจฉกรรจ์ในเทอมที่สอง มีการจัดองค์ประกอบของภาพที่ยอดเยี่ยม ในผลงานภาพถ่ายขาวดำ มุมมองของหอยทาก และบันทึกวิถีชีวิต นิสิตให้ความสำคัญการตัดกันของโทนสี น้ำหนักภาพและสภาพแสง ทำให้เกิดภาพถ่ายที่มีความงามและความน่าสนใจทั้งด้านเนื้อหาและแสงเงาภายในภาพ สิ่งที่ควรปรับปรุงคงจะเป็นเรื่องการใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์เพิ่มการตัดกันของน้ำหนักเข้มและอ่อนในภาพมากเกินไป จนทำให้รายละเอียดของภาพขาดหายไป

แฉกที่เก้า บั๊ดดี้ พี่ใหญ่ หรือ คำมอด อภิวัฒน์ ศรีดาพรหม ผลงานภาพถ่ายบุคคลมีความโดดเด่นมาก ภาพให้อารมณ์ความรู้สึกจากความสามารถในการบันทึกสีหน้า แววตาและอารมณ์ของแบบที่เกิดขึ้นเพียงเสี้ยววินาที แบบที่ถูกถ่ายไม่มีอาการแข็งเกร็ง เขินหรือประหม่า ถ่ายภาพบุคคลได้เป็นธรรมชาติมาก ผลงานมีลักษณะเฉพาะตัว มีมุมมองที่น่าสนใจและแฝงด้วยอารมณ์ขันในลักษณะยียวนกวนประสาท เสน่ห์ของผลงานสามารถสร้างรอยยิ้มให้กับคนดูได้ สิ่งที่ควรปรับปรุงคือ การจัดวางจุดสนใจในภาพที่มักจะนำเสนอจุดสนใจในบริเวณกึ่งกลางของภาพ ควรฝึกหัด จัดองค์ประกอบโดยวางจุดสนใจในตำแหน่งต่างๆภายในกรอบภาพ

แฉกที่สิบ เบิ้ม สันติชัย ทิพย์เนตร สามารถจัดวางองค์ประกอบของภาพได้ดี มีลูกเล่นในการวางตำแหน่งของจุดสนใจภายในกรอบภาพ มีสายตาของช่างภาพ ที่สังเกตเห็นสิ่งต่างๆที่คนอื่นอาจจะไม่สังเกตเห็นหรือมองข้ามไป เช่น ใบเสร็จค่าเช่าห้องพัก ซองบุหรี่เปล่าที่ฝาผนัง ใช้กรอบสี่เหลี่ยมของภาพถ่ายนำเสนอรูปทรงและสีสันของสิ่งต่างๆที่ไม่น่าสนใจให้มีความสวยงามขึ้นมาได้ สามารถนำเสนอความงามจากกองขยะได้ การถ่ายภาพควรคำนึงถึงสภาพแสง ชนิดและทิศทางของแสงเพื่อให้ได้ภาพถ่ายที่มีความงดงามมากขึ้น

แฉกที่สิบเอ็ด โบว์ ธัญนาฎ สิทธิโชค สามารถถ่ายภาพสิ่งของที่อยู่รอบๆตัวให้มีความงาม แปลกตา น่าสนใจ ได้ด้วยการจัดวางตำแหน่งของจุดสนใจให้อยู่ในบริเวณชิดไปทางด้านซ้ายหรือด้านขวาของภาพ หรือการวางน้ำหนักของภาพในลักษณะสมดุลซ้ายขวาด้วยการวางวัตถุสองอย่างที่มีขนาด รูปทรงและสีสันต่างกัน ในลักษณะทแยงมุม ถ่ายภาพบุคคลในลักษณะนักสังเกตการณ์ ถ่ายโดยที่แบบไม่รู้ตัวได้ดีกว่า การถ่ายภาพที่คนเป็นแบบรู้ตัว ซึ่งจะมีลักษณะเกร็ง ไม่เป็นธรรมชาติ
ผลงานของวรพงศ์ วีระจิตต์

แฉกที่สิบสอง สเตฟาน วรพงศ์ วีระจิตต์ ผลงานถ่ายทอดวิถีชีวิตแสดงถึงความชำนาญในการจัดวางองค์ประกอบภาพ มีความละเอียดอ่อนในการสื่อบุคลิกภาพของคนผ่านทางวัตถุสิ่งของภายในห้องพักของบุคคลนั้น วัตถุที่เลือกมาเป็นจุดสนใจในภาพมักมีความแปลก น่าพิศวง มีความกล้าที่จะทดลองวางจุดสนใจในตำแหน่งที่ชิดติดกรอบภาพ ผลงานภาพถ่ายขาวดำมีความน่าสนใจและสวยงามกว่าผลงานภาพสี ถ้าให้ระยะเวลาในการทำงานและบันทึกภาพมากขึ้นจะทำให้ได้ผลงานที่มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น



แฉกที่สิบสาม หลิน นิธินันต์ อินทรบุตร ถ่ายภาพบุคคลได้มีชีวิตชีวา และเป็นธรรมชาติ สามารถบันทึกอารมณ์ ความรู้สึกที่แสดงผ่านทางสีหน้าและอากัปกิริยาของแบบได้ทันท่วงที ลักษณะการทำงานในภาพบุคคลคล้ายรูปแบบการทำงานของช่างภาพ ที่จะบันทึกภาพแบบที่ถ่ายอย่างต่อเนื่อง ในอากัปกิริยาและอารมณ์ต่างๆ ภาพถ่ายมุมมองของสัตว์ นำเสนอมุมมองที่น่าสนใจ มีการสร้างระยะใกล้-ไกลภายในภาพจาก ตำแหน่งของวัตถุที่อยู่บริเวณด้านหน้า ไล่เรียงไปยังด้านหลัง ควรฝึกฝนเพิ่มเติมในการถ่ายภาพทิวทัศน์ การหาจุดสนใจจากพื้นที่ธรรมชาติ การนำเสนอสัดส่วนของผืนดินและท้องฟ้าภายในภาพ


ผลงานของเกียรติพงษ์ ลงเย

แฉกที่สิบสี่ ซุปเปอร์ เกียรติพงษ์ ลงเย ผลงานภาพถ่ายมีความแปลกใหม่ แสดงมุมมองที่ไม่เหมือนใคร ผลงานมีลักษณะเฉพาะตัวและเต็มไปด้วยความคิดสร้างสรรค์ มีความน่าสนใจทั้งในด้านวัตถุที่นำเสนอ การจัดวางองค์ประกอบ มุมกล้อง มีการสำรวจและแสวงหาสิ่งที่น่าสนใจตามสถานที่ต่างๆ เพื่อที่จะให้ภาพที่ได้มีความน่าสนใจ สิ่งที่ปรับปรุงน่าจะเป็นเรื่องการให้ระยะเวลาที่นานขึ้นในการทำงาน นิสิตไม่ถนัดที่จะถ่ายภาพด้วยความรีบร้อน บันทึกภาพในช่วงระยะเวลาสั้นๆ หรือตัดสินใจกดชัตเตอร์ถ่ายภาพในช่วงเวลาพริบตาเดียว หรือในขณะนั้น

ผลงานของอาทิตย์ แก้วแสนไชย

แฉกที่สิบห้า อาทิตย์ อาทิตย์ แก้วเสนไชย มีการตีโจทย์หัวข้อต่างๆที่กำหนดให้ วางแผนว่าจะถ่ายภาพอย่างไรก่อนการลงมือบันทึกภาพ ซึ่งเป็นผลดีในบางหัวข้อแต่ไม่เหมาะสมในบางหัวข้อ ควรเรียนรู้ที่จะถ่ายภาพด้วยสันชาตญานให้มากขึ้น เรียนรู้ที่จะกดชัตเตอร์บันทึกสิ่งที่เกิดขึ้นในชั่วขณะนั้น ที่ไม่ได้อยู่ในแผนที่วางไว้ และใช้มุมกล้องในลักษณะที่แปลกไปจากการมองเห็นด้วยสายตาปกติ

แฉกที่สิบหก ปลาโด ขวัญวิภา ตรงดี ถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกของคนที่ถูกถ่าย ได้อย่างตรงไปตรงมา ควรฝึกหัดที่จะจัดวางจุดสนใจในภาพในตำแหน่งต่างๆ นอกเหนือไปจากการวางจุดสนใจไว้ในตำแหน่งกึ่งกลางของภาพ ถ่ายภาพทิวทัศน์ได้ดี ภาพมีระยะใกล้-ไกล จากการจัดวางตำแหน่งของวัตถุต่างๆภายในภาพในระยะที่แตกต่างกัน ภาพบางภาพยังขาดจุดสนใจภายในภาพ

แฉกที่สิบเจ็ด เอ็กซ์ อรุณ ราวะรินทร์ มีความสนใจในลักษณะของร่องรอย พื้นผิว รูปทรง ที่พบเห็นจากสิ่งแวดล้อมใกล้ตัว ผลงานจะมีคุณภาพมากขึ้นถ้านิสิตปรับปรุงในเรื่องของความตั้งใจ ระยะเวลาในการทำงาน และการตระเวนสรรหาสิ่งที่จะถ่ายภาพ แทนการถ่ายภาพด้วยระยะเวลาสั้นๆเพียงเพื่อให้งานเสร็จและทันส่ง



ผลงานของสิทธิชัย นามโคตร

แฉกที่สิบแปด เสธ สิทธิชัย นามโคตร บันทึกอย่างต่อเนื่อง ในลักษณะนักสังเกตการณ์ บันทึกการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมคนหรือแปรสภาพของสิ่งต่างๆในสถานที่หรือบริเวณใดบริเวณหนึ่งได้ดีกว่า การตระเวนไปตามสถานที่ต่างๆ เพื่อหาแรงบันดาลใจที่จะมากระตุ้นให้บันทึกภาพ



เจษฎา ตั้งตระกูลวงศ์

No comments:

Post a Comment

Home / 01 / 02 / 03 /04 /05 / 06 / 07 / 08 / 09